วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มังกรทะเลใบไม้ (Leafy Sea Dragon)




ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phycodurus eques  อยู่ในวงศ์ : Syngnathidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับม้าน้ำ โดยถือเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Phycodurus พบทางตอนใต้และตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย ถือเป็นปลาเฉพาะถิ่น มักอาศัยอยู่ในกระแสน้ำอุ่นในความลึกตั้งแต่ 3 - 50 เมตร

มังกรทะเลใบไม้ มีจุดเด่นตรงที่มีครีบต่าง ๆ ลักษณะคล้ายใบไม้หรือสาหร่ายทะเล ทำให้ได้ชื่อว่าเป็นปลาที่มีความสวยงามที่สุดในโลกซึ่งครีบเหล่านี้ไม่ได้มีไว้ว่ายน้ำแต่ใช้สำหรับอำพรางตัวจากศัตรู และยังใช้หาอาหารอีกด้วย มังกรทะเลใบไม้ใช้ครีบอกในการว่ายน้ำ ซึ่งครีบอกนั้นมีลักษณะใสโปร่งแสง และมองเห็นได้ยากมากเมื่อเวลาเคลื่อนไหว ทำให้สังเกตุเห็นเจ้ามังกรทะเลใบไม้ได้ยากยิ่งเมื่อมันแฝงตัวไปในหมู่สาหร่ายทะเล  ปากของมันมีลักษณะเหมือนท่อยื่นยาวออกมา ตอนปลายปากเปิดออก  จะกินอาหารจำพวกแพลงก์ตอน, กุ้ง และครัสเทเชียนขนาดเล็ก ๆ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จะวัดความยาวได้ประมาณ 35 เซนติเมตร

การผสมพันธุ์และวางไข่ มังกรทะเลใบไม้มีพฤติกรรมเหมือนม้าน้ำ คือตัวผู้จะเป็นตัวที่อุ้มท้องเหมือนม้าน้ำ แต่มังกรทะเลใบไม้ไม่ใช่ม้าน้ำ จึงไม่มีกระเป๋าหน้าท้องไว้ฟักไข่เหมือนม้าน้ำ  มังกรทะเลใบไม้จะขยายพันธุ์ได้โดยที่ตัวเมียจะวางไข่ติดไว้ที่หางของตัวผู้แทน  หลังการผสมพันธุ์มังกรทะเลใบไม้ ตัวเมียจะวางไข่บริเวณหางตัวผู้ซึ่งจะม้วนงอเข้า ไข่ 100-250 ฟองจะถูกวางบริเวณซึ่งเป็นที่ยึดของไข่จะมีเนื้อเยื่อซึ่งเต็มไปด้วยเส้นเลือด ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะพัฒนาขึ้นในมังกรทะเลใบไม้ตัวผู้เฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ท่านั้น ฤดูผสมพันธุ์จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนมีนาคม ไข่ซึ่งยึดติดอยู่กับหางตัวผู้จะได้รับออกซิเจนผ่านทางเส้นเลือดที่มีอยู่มากมาย จากนั้น 4-6 สัปดาห์ ลูกมังกรน้อยก็จะฟักออกมา และจากนั้นไม่นานลูกมังกรทะเลก็จะต้องพึ่งตัวเองโดยปราศจากการช่วยเหลือของพ่อแม่ พวกมันจะใช้อาหารจากไข่แดงและล่าแพลงตอนสัตว์ขนาดเล็ก หนึ่งปีผ่านไปพวกมันจะโตได้ถึง 20 เซนติเมตรและจะโตเต็มที่ภายใน 2 ปี

มังกรทะเลใบไม้ จัดเป็นปลาที่มีความอ่อนไหวมาก จึงยากที่จะนำมาเลี้ยง แม้ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ก็มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นในโลกที่มีปลาชนิดนี้ไว้เลี้ยง  และทางการออสเตรเลียก็ได้ออกกฎหมายปลาชนิดนี้ไว้เป็นสัตว์คุ้มครอง โดยห้ามจับหรือมีไว้ในครอบครองเด็ดขาด แต่ได้อนุญาตเป็นการพิเศษให้แก่นายแปง กวอง ซึ่งเป็นเจ้าของฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาทะเลชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในออสเตรเลีย จับและครอบครองได้แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น โดยอนุญาตให้จับได้เพียงปีละตัวเดียวเท่านั้น  ซึ่งมังกรทะเลใบไม้ตามพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลกนั้นก็มาจากการเพาะพันธุ์ของนายแปง กวองผู้นี้ทั้งสิ้น.......

ข้อมูล : http://th.wikipedia.org
รูปภาพ : http://nighbluey.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น