วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

...ครบเครื่องเรื่องไม้น้ำ...




แสงสว่าง ความต้องการพื้นฐานของตู้ไม้น้ำ



แสงสว่างที่พอเพียง ทั้งในแง่ของความเข้ม และช่วงเวลาของการให้แสง สำหรับแต่ละสายพันธุ์ กล่าวคือ ต้นไม้น้ำมีทั้งที่ต้องการแสงไม่มาก, ปานกลาง ไปจนถึงพวกที่ต้องการแสงจัดมาก ในหลายกรณีที่ผู้เลี้ยงมีปัญหามาจากการขาดข้อมูลพื้นฐานเรื่องแสงโดยสิ้นเชิง เช่น เปิดไฟไว้ตลอดเวลา หรือ ปิดๆเปิดๆให้ได้จำนวนชั่วโมงที่มากพอและที่พบมากคือแสงไม่พอเพียง นอกจากนี้แล้วเรื่องของคุณภาพของแสง (ในที่นี้ จะหมายถึง spectrum หรือแสงที่ย่านความถี่ต่างๆ) ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ต้องให้ความสำคัญถ้าผู้เลี้ยงต้องการความสมบูรณ์สูงสุดของต้นไม้น้ำที่เลี้ยง สำหรับผู้ที่เริ่มต้นใหม่ๆ ขอให้คำแนะนำเบื้องต้นไว้ว่า ... เข้มไว้ก่อน ... คือควรให้แสงมีความเข้มที่พอเพียงไว้ก่อนในเบื้องต้น 

ก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์ ความต้องการพื้นฐานของตู้ไม้น้ำ


ก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์ มีความสำคัญต่อขบวนการสังเคราะห์แสงของพืช ทั้งนี้ ปัจจัยเรื่องนี้สำหรับต้นไม้บกนั้นมีมากพอเพียงอยู่แล้ว ส่วนในต้นไม้น้ำนั้นเราไม่สามารถจำลองสภาพที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ ซึ่งสามารถทำให้เกิดก๊าซชนิดนี้ในหลายๆ รูปแบบมาไว้ในตู้ได้โดยง่ายดังนั้นการให้ หรือเติมลงไปซึ่งดูเหมือนจะง่ายกว่าจึงเป็นสิ่งที่กระทำกันโดยทั่วไป 
อนึ่งในการเลี้ยงอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกทับศัพท์ว่า low tech tank นั้น จะไม่ใช้การเติม co2 ลงไป โดยตรง แต่จะเน้นการได้มาซึ่งก๊าซนี้ตามธรรมชาติ คือ จากการสลายตัวของสารอินทรีย์ชนิดต่างๆ (organic matters) และจากขบวนการหายใจของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่มีในตู้ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา (ปูคงไม่เลี้ยงกันนะ) รวมถึงแบคทีเรียบางกลุ่ม และต้นไม้เองด้วย แต่วิธีดังกล่าวนี้ เป็นงานที่ยุ่งยากมากทั้งในการเตรียมและการควบคุมผลที่ได้ก็ไม่น่าประทับใจเท่ากับการให้ก๊าซลงไป อีกทั้งผู้เลี้ยงโดยวิธีธรรมชาติยังต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้งพอสมควรในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะเรื่องของความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต หรือนิเวศน์วิทยา (ecology) รวมถึงเคมี
       ดังนั้นการเลี้ยงแบบ Hitech คือมีการเติมก๊าซ co2 ลงไปจึงเป็นสิ่งที่แพร่หลายกว่ามาก ส่วนจะใช้แบบยีสต์ ซึ่งมีราคาถูก แต่ยุ่งยากกว่า หรือจะใช้ถังความดันสูงพร้อมอุปกรณ์การกระจาย ซึ่งสะดวกแต่มีราคาแพงกว่ามาก ก็คิดว่าน่าจะพิจารณาจากความตั้งใจว่าจะเอาจริงจังหรือเปล่าเป็นเกณฑ์ ถ้ารักจริงยังไงก็จะแต่งละก็ซื้อถังไปเลย แต่ถ้ายังขอดูใจกันไปก่อนก็ใช้ยีสต์ หรือ co2 กระป๋องไปก่อนก็ดี

สารอาหารความต้องการพื้นฐานของตู้ไม้น้ำ



ปุ๋ย หรือสารอาหาร เป็นอีกปัจจัยพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญที่ต้นไม้ต้องการเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เช่นเดียวกับปัจจัยในเรื่องของ ก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์ก็คือในการเลี้ยงแบบ  low tech นั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยลงไปถ้าการเตรียมวัสดุปลูกมีความสมบูรณ์เพียงพอ รวมถึงจำนวนปลาที่เลี้ยงมีความสมดุลกับต้นไม้ที่ปลูก แต่ก็เช่นกันคือผลที่ได้เทียบกับความพยายามแล้วก็ไม่น่าประทับใจ ถ้าเปรียบเทียบแบบหยาบๆ ก็คือการจะให้สุนัขข้างถนนซึ่งต้องดิ้นรนหาอาหารกินเอง หรือที่เจ้าของเลี้ยงแบบทิ้งๆ ขว้างๆ มีความสมบูรณ์, แข็งแรง และสวยงาม เหมือนสุนัขที่มีเจ้าของ หรือสุนัขที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ก็คงเป็นไปไม่ได้แน่นอนเช่นกัน
นอกจากความต้องการพื้นฐานทั้ง 3 ปัจจัยนี้แล้ว สำหรับต้นไม้น้ำยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมาก ซึ่งล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้นในบางปัจจัยที่เราไม่สามารถจำลองมาไว้ในตู้ได้ เช่นการไหลอย่างรุนแรงของกระแสน้ำ ทำให้ไม่สามารถเลี้ยง Jasarum steyermarkii (ลักษณะคล้าย Sagittaria montevidensis) ให้อยู่รอดได้ในตู้เป็นต้น 

การทำความสะอาดวัสดุกรองเป็นระยะ



สำหรับผู้เลี้ยงบางท่านแล้วตราบใดที่น้ำยังใสสะอาด ตะไคร่น้ำยังไม่ปรากฏให้เห็นก็มักจะลืมเรื่องการทำความสะอาดวัสดุกรองอยู่บ่อยๆ (เรียกว่ามิได้เห็นโลงศพมิอาจหลั่งน้ำตาได้) ซึ่งที่ถูกแล้วควรทำทุกๆ สอง ถึง สามเดือนครั้ง (ขึ้นกับปริมาตรน้ำ และขนาดของส่วนกรอง)ทั้งนี้เพื่อให้เครื่องกรอง หรือช่องกรองดำรงความสามารถในการรองรับปัญหาต่างๆ ที่จะมีผลต่อคุณภาพของน้ำเอาไว้ให้ได้ในระดับสูง ทั้งนี้ผู้ที่มีประสบการณ์มานานหน่อยย่อม ตะหนักดีว่าช่วงเวลาของการเกิดตะไคร่น้ำนั้นเป็นช่วงเวลาที่ช่างไม่น่าอภิรมย์เอาเสียเลยไหนจะขาดความสวยงามไปไหนจะต้องยุ่งกับการปรับสภาพต่างๆใหม่ และสำหรับกับการทำความสะอาดวัสดุกรองแล้วหลายท่านยังเข้าใจว่าต้องล้างให้สะอาดหมดจดจึงจะดี แต่ที่ถูกต้องแล้วการขจัดสิ่งหมักหมมออกเพียง 70 - 80 % ก็เพียงพอแล้ว และควรใช้น้ำจากในตู้ในการทำความสะอาดไม่ควรใช้น้ำประปา เพราะจะทำให้แบคทีเรียเสียหาย และต้องใช้เวลามากขึ้นในการเกิดใหม่ (colonizing)










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น